วีดีโอที่เกี่ยวข้อง

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561



ฝาง มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดแรกแก่นไม้จะเป็นสีแดงเข้มเรียกว่า “ฝางเสน” กับอีกชนิดหนึ่งแก่นไม้จะเป็นสีเหลืองเรียกว่า “ฝางส้ม” ทั้ง 2 ชนิดมีประโยชน์และมีสรรพคุณทางสมุนไพรเหมือนกันได้แก่ แก่นไม้เมื่อนำไปต้มกับน้ำ เคี่ยวจะได้น้ำเป็นสีแดงเข้มคล้ายสีของ ด่างทับทิม ใช้ย้อมผ้าและไหมได้งดงามมาก


สรรพคุณทางยา ตำรายาแผนไทยระบุว่า แก่นมีรสขื่นขมและฝาดต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิตสตรี แก้ปอดพิการ ขับหนอง ทำให้โลหิตเย็น แก้ท้องร่วง แก้ธาตุพิการ แก้แก้โลหิตออกทางทวารหนักและเบา สรรพคุณแผลง แก่นรสชาติขมปนหวาน แก้คุดทะราด แก้เสมหะ แก้โลหิตและแก้กำเดาได้ 



น้ำสมุนไพร 3 สี ช่วยคลายร้อน
แม้จะมีพายุฤดูร้อนพาเอาฝนและความชื้นมาช่วยคลายร้อนไปบ้าง (บางวัน) แต่ความร้อนระอุเหนือคำบรรยายยังแผ่คลุมประเทศไทยไปอีกสักระยะ แทนที่จะหนีไปไหนเปลี่ยนมาอยู่เมืองไทยร้อนๆ ด้วยความสุขกับการดื่มน้ำสมุนไพร 3 สี ช่วยคลายร้อนดีกว่า
สีน้ำที่กล่าวถึงนี้ไม่ได้เกี่ยวพันกับการเมืองเรื่องสีแต่อย่างใด
ทั้ง 3 สีแม้จะต่างกันลิบลับแต่ก็ช่วยดับร้อนได้เหมือนกันจริงๆ นะ



อันดับแรก น้ำสีแดง คิดถึงน้ำอะไรที่ช่วยแก้ร้อนได้ดี? ปกติสีแดงแรงฤทธิ์น่าจะทวีความรุ่มร้อนขึ้น แต่สี
แดงของสมุนไพรต้นนี้ เรียกว่าสีแดงแซพปาน (sappan red) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อพืชสามัญว่า ต้นแซพปาน (Sappan Tree) และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Caesalpinia sappan L. เรียกชื่อกันทั่วไปว่า ต้นฝาง หรือฝางเสน นั่นเอง ฝางเสนนี้เป็นส่วนผสมของน้ำยาอุทัยอันเลื่องชื่อ ที่คนไทยรู้จักกันมากว่าครึ่งศตวรรษ น้ำยาอุทัยนี้นำมาผสมในน้ำดื่มให้มีกลิ่นหอมและมีประโยชน์ในการช่วยดับกระหายคลายร้อนนั่นเองสีแดงของแก่นฝางมาจากสาร “แซพปานิน” (sappanin) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย แก้อาการอักเสบ แก้ท้องร่วงทีนี้ในฝางยังมีสารอีกชนิดที่ให้สีชมพูอมส้มถึงแดง เรียกชื่อสาร “บราซิลิน” ซึ่งว่าตามสรรพคุณแต่โบราณจะช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิตทำให้โลหิตเย็น กระจายโลหิต ขับระดู แก้เลือดกำเดา แก้ไข้ แก้ร้อนใน ระงับอาการหอบหืด แล้วมาตรงกับผลการวิจัยทางเภสัชวิทยาสมัยใหม่ว่าสารสำคัญชนิดนี้เป็นสารต้านฮีสตามีน (antihistamin) ช่วยแก้ลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตเป็นปกติ และ แก้อาการหัวใจขาดเลือด
ฝางมีฤทธิ์เย็นและกระจายโลหิต เมื่อนำมาต้มดื่มจึงช่วยแก้ร้อนในฤดูร้อนได้ วิธีต้มน้ำ ใช้แก่นฝางเสนตอกเป็นชิ้นเล็กๆ ใช้ครั้งละ 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตรครึ่ง ต้มเดือดแล้วหรี่ไฟอ่อนๆ จนน้ำงวดเหลือ 1ลิตร ดื่มอุ่นหรือทิ้งให้เย็นก็ได้ ดื่มสลับกับน้ำเปล่า เพราะอากาศร้อนๆ ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ดื่มน้ำฝางอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 แก้ว เช้า-บ่าย จะช่วยควบคุมความร้อนในร่างกายได้ดีใครที่ยังคิดถึงแม่การะเกด พี่หมื่นในสมัยพระนารายณ์ ก็ขอบอกว่า ฝางเป็นยาดีที่ใช้กันมาในตำรับพระโอสถพระนารายณ์ ใช้คู่กับเปลือกต้นมะขามป้อมอย่างละเท่าๆ กัน ต้มน้ำ 4 เอา 1 ท่านว่า “กินแก้ตกมูกตกหนัก (แก้ท้องเสีย) หยุดเป็นอันเที่ยงแท้ ได้รอดจากความตายเป็นหลายคนมาแล้ว”
แต่ถ้าหาเปลือกต้นมะขามป้อมไม่ได้ จะใช้แก่นฝางอย่างเดียวก็เอาอยู่

นํ้าสีเหลือง ท่านว่าคือสมุนไพรชนิดใดที่ช่วยคลายร้อนได้? อ้างตามตำรา “แพทยศาสตร์สงเคราะห์” ซึ่งเขียนขึ้นตามพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 5 เพื่อรวบรวมชำระความรู้ให้ถูกต้องเพื่อนำมาใช้บำบัดโรคภัยต่างๆ
บันทึกของตำรานี้อาจมองว่าเป็นตำราให้หมอหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้นำมาบำบัดโรคให้คนไข้
แต่ถ้าอ่านดูจะพบว่าชาวบ้านสามารถนำความรู้มาใช้พึ่งตนเองได้ เช่น สู้กับลมร้อนในตำราว่าให้ดื่มน้ำอ้อย สีเหลืองอ่อนๆ แก้ได้
ในตำรากล่าวว่า “น้ำอ้อยสดมี รสหวานและเย็น กินปัสสาวะออกมาก เจริญอายุ ให้มีกำลัง แก้ไข้กำเดาและลม กระจายเสมหะ ผายธาตุ น้ำอ้อยต้มและอ้อยเผา มีรสหวานยิ่งกินแก้เสมหะ หืดไอ แก้ไข้สัมประชวร”
ดูจากตำรายืนยันได้ว่า น้ำอ้อยสดใช้บำรุงกำลังและมีสรรพคุณมากมายแล้ว ที่อธิบายว่าใช้ได้ดีกับความร้อนในฤดูร้อน คือ การแก้ไข้กำเดาและลม หมายถึงเป็นไข้หวัดตัวร้อน ซึ่งแต่โบราณให้ความสำคัญกับการแก้อาการที่กองลมในร่างกายด้วยเพราะลมจะทำให้ตัวร้อนรุ่ม เหงื่อออกมาก แล้วกลับหนาวสะท้าน ปวดศีรษะ ไอ อาเจียน กระสับกระส่าย เบื่ออาหาร อากาศเมืองไทยในบางวันช่วงกลางคืนเย็นๆ กลางวันร้อนจัด แบบนี้ทำให้เป็นไข้กำเดาได้ ก็ให้ดื่มน้ำอ้อยคั้นสด ครั้งละ 1 แก้ว (250 ซีซี) วันละ 3-4 แก้ว ก่อนอาหารและก่อนนอน
ชาวจีนนิยมกินน้ำอ้อยหรือใช้ส่วนลำต้นและข้อมาคั้นน้ำกิน ซึ่งมีรสหวานชุ่มและเย็น แก้ร้อนใน บำรุงกระเพาะ ช่วยขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ไอ คอแห้ง แก้อาการร้อนรุ่มกลุ้มใจ คลื่นไส้อาเจียน และท้องผูกด้วย น้ำอ้อยคั้นสด หรือจะใช้เทคนิคพิเศษนำลำอ้อยไปเผาไฟจนมีน้ำไหลออกมา แล้วค่อยนำไปคั้นกิน
หรือบางคนเอาน้ำอ้อยสดๆ ไปอุ่นหรือต้มสักครู่จะมีกลิ่นหอมและรสหวานอร่อยมาก ดื่มน้ำอ้อยเหลืองสวยคลายร้อนได้ดีเช่นกัน




นํ้าสมุนไพรชนิดที่ 3 สีเขียวเข้มมีฤทธิ์เย็นจัดแก้ร้อนในกระหายน้ำได้ดี คือ บัวบก ในตำรายาไทย กล่าวว่า บัวบกมีรสเฝื่อน ขม เย็น เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย และอาการเริ่มเป็นบิด แก้ลมแก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า เป็นยาบำรุงกำลังและเป็นยาอายุวัฒนะ แต่บัวบกเป็นสมุนไพรที่นิยมใช้ทั้งชาวอินเดียและจีน
ตำราอายุรเวทกล่าวถึงบัวบกมีรสขมหวาน ย่อยได้ง่าย และเป็นยาเย็น ยาระบาย ยาบำรุงช่วยฟื้นฟูสุขภาพ ช่วยบำรุงเสียง ช่วยให้ความจำดีขึ้น เป็นยาเจริญอาหาร ใช้แก้ไข้ แก้อักเสบ ชาวจีนนิยมใช้บัวบกแก้อาการช้ำใน และแก้อาการร้อนในกันอย่างกว้างขวาง
วันที่อากาศร้อนๆ ลองหาใบและรากบัวบก 1 กำมือ หั่นใบบัวบกพอหยาบๆ แล้วใส่ลงในเครื่องปั่น เติมน้ำสุก 1 แก้ว ปั่นให้ละเอียด กรองแล้วคั้นเอาแต่น้ำบัวบก ใส่เกลือเล็กน้อย แล้วเติมน้ำเชื่อมตามใจชอบ (เล็กน้อย) ดื่มเลยหรือนำไปแช่ตู้เย็น หรือใส่น้ำแข็ง ดื่มแบบเย็นๆ ช่วยไล่ความร้อนในร่างกายได้ดี ดื่มแล้วชื่นใจ จะทำไว้ปริมาณมากๆ แล้วเก็บไว้ในตู้เย็นแบ่งมากินวันละ 1 แก้วพอ กินสัก 2-3 วันในวันอากาศร้อนๆ ก็จะคลายร้อนได้
ใครนิยมชมชอบน้ำสมุนไพรสีไหน ก็ทำดื่มแก้ร้อนได้ตามอัธยาศัย
ไม่แน่ใจว่าเด็กสมัยนี้จะรู้จัก “น้ำยาอุทัย” กันอยู่หรือเปล่า น้ำแดงๆ หยดลงน้ำเย็น กลิ่นหอมชื่นใจ ยิ่งใครได้ดื่มจากขันที่มีน้ำแข็งก้อนใหญ่ๆ ลอยอยู่ด้วยล่ะก็ บอกเลยว่าหลายคนมีฟิน แต่ของแบบนี้จะเรียกว่า “ไม่รัก ก็เกลียดไปเลย” ได้เหมือนกัน เพราะบางคนขอบาย แค่ได้กลิ่นก็เวียนหัวแล้ว

นอกจากน้ำยาอุทัยมีไว้ผสมน้ำดื่มแล้ว ยังมีวัยรุ่นบางคนที่อยากมีปากแดงๆ แก้มแดงอมชมพู นำน้ำยาอุทัยมาทาปากทาแก้มแทนเครื่องสำอางปกติอีกด้วย เรียกได้ว่าประโยชน์คูณสองจริงๆแต่.... ใครก็ตามที่ทั้งดื่ม ทั้งทา ทั้งติดใจเจ้าน้ำยาสีแดงๆ นี้เป็นเวลานานๆ อาจกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ทาปากทาแก้มแล้ว ปากจะดำ แก้มจะเป็นฝ้าเป็นกระหรือเปล่า
ก่อนอื่นต้องมาดูก่อนว่า น้ำยาอุทัย มีส่วนประกอบอะไรบ้าง
ส่วนประกอบของน้ำยาอุทัย
1. ฝาง
ส่วนประกอบหลักของน้ำยาอุทัย ที่ทำให้น้ำยาอุทัยเป็นสีแดง ฝางช่วยบำรุงโลหิต บางคนต้มน้ำดื่มเพื่อช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติด้วย
 2. ดอกพิกุล
ให้รสเย็น ช่วยลดไข้ บำรุงหัวใจ แก้เจ็บคอ และลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
 3. ดอกมะลิ
ให้รสเย็นชื่นใจเช่นเดียวกัน บำรุงหัวใจ แก้ร้อนในกระหายน้ำ
 4. หญ้าฝรั่น
หญ้าฝรั่นช่วยลดไข้ บำรุงเลือด บำรุงธาตุ และเป็นยาชูกำลัง
 5. ดอกสารภี
แม้ว่าดอกสารภีจะมีรสขม แต่ก็ช่วยบำรุงโลหิต ช่วยให้เจริญอาหาร และบำรุงหัวใจ
 6. ดอกบุนนาค
ดอกบุนนาคเป็นอีกส่วนผสมที่มีรสขมนิดๆ ช่วยลดไข้ ขับลม แก้ตาพร่ามัว บำรุงธาตุ บำรุงโลหิตและบำรุงหัวใจ
 7. ดอกคำฝอย
ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยป้องกันการอุดตันของไขมันในเส้นเลือด
 8. ดอกเก็กฮวย
ช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ และช่วยบำรุงหัวใจ
 9. เกสรบัวหลวง
เกสรดอกบัวอาจมีรสฝาดนิดๆ แต่ก็ช่วยบำรุงกำลัง ทำให้สดชื่น และแก้อาการวิงเวียน หน้ามืด
 10. อบเชย
อบเชยมีฤทธิ์ช่วยแก้อ่อนเพลีย บำรุงธาตุ และเป็นยาขับลม
 11. กฤษณา
มีสรรพคุณช่วยในการบำรุงโลหิต แก้ท้องร่วง และอาเจียน
 12. จันทน์แดง
ช่วยบำรุงเลือด
 13. โกศหัวบัว
ช่วยขับลม
 14. โกศเขมา
แก้โรคในปาก ในคอ แก้หอบ แบะช่วยขับลม
 15. โกศสอ
ลดไข้ แก้ไอ ช่วยขับลม และบำรุงหัวใจ
 16. โกศเชียง
ลดไข้ แก้ไอ ขับลม และช่วยบำรุงเลือดทั้งนี้ น้ำยาอุทัยแต่ละเจ้า อาจมีส่วนผสมที่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละที่ แต่ที่เป็นส่วนผสมหลักคือ ฝาง ที่มีฤทธิ์บำรุงโลหิต และสมุนไพรอื่นๆ ที่เน้นเรื่องของการลดความกระหายน้ำ และให้ฤทธิ์เย็น ลดความร้อน จึงเหมาะกับอากาศบ้านเรา และเป็นนิยมของใครหลายคน ด้วยกลิ่น และรสชาติที่เย็นชื่นใจ
 น้ำยาอุทัย อันตรายหรือไม่? จากส่วนผสมที่เน้นเรื่องการลดอุณหภูมิร้อนในร่างกาย ดังนั้นจึงไม่เหมาะในการนำมาดื่มมาทานช่วงฤดูหนาว หรือเมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะแวดล้อมเย็นๆ ส่วนเรื่องทาปากทาแก้มแล้วจะเป็นอันตรายหรือไม่ น่าจะเป็นที่แต่ละบุคคลมากกว่า ว่าจะมีอาการแพ้ต่อส่วนผสมใดส่วนผสมหนึ่งในน้ำอุทัยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม อะไรที่มากเกินไป ย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน ดังนั้นถึงแม้ว่าจะติดอกติดใจกลิ่นหอมสดชื่น และรสเย็นฉ่ำของน้ำยาอุทัยมากเท่าไร ก็อย่าทานมากจนเกินไปจะดีกว่าค่ะ ผสมทานบางๆ นานๆ ดื่มทีเมื่อต้องการความสดชื่น ก็น่าจะเพียงพอแล้วเนอะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ฝาง มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดแรกแก่นไม้จะเป็นสีแดงเข้มเรียกว่า “ฝางเสน” กับอีกชนิดหนึ่งแก่นไม้จะเป็นสีเหลืองเรียกว่า “ฝางส้ม” ท...